ทำไมคนอ้วนมีโอกาสปวดเข่าได้ง่ายกว่าคนทั่วๆไป
หากท่านเป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านบทความเรื่องสุขภาพ ท่านอาจเคยผ่านๆตากันมาบ้างแล้วว่า น้ำหนักที่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นปัจจัยเสี่ยงลำดับต้นๆที่จะนำไปสู่อาการปวดข้อเข่าได้ แต่ก็มีไม่บ่อยนักที่จะเจอบทความที่อธิบายต่อว่า ทำไมล่ะ! ทำไมน้ำหนักถึงส่งผลต่อเข่าได้ขนาดนั้น หรือหากอธิบายก็จะอธิบายถึงน้ำหนักที่กดลงบนเข่ามากขึ้นจนเกิดการเสียดสีของเขาและปวดเข่าหรือนำไปสู่อาการเข่าเสื่อม
แต่ว่า นอกจากเรื่องการกดทับของน้ำหนักต่อข้อเข่าแล้ว ยังมีอีกส่วนสำคัญที่ส่งผลต่ออาการปวดเข่าได้ก็คือแนวของเข่าหรือที่เรียกกันว่า knee alignment รายละเอียดจะเป็นอย่างไร เชิญหาคำตอบไปพร้อมๆกันได้เลยครับ
การรับแรงของข้อเข่า
อันดับแรกเรามาเข้าใจถึงแนวการรับแรงของเข่าขณะที่เข่าเหยียดตรงกันครับ เข่าในท่าเหยียดตรงจะมีการเหยียดเข่าสุด ขาท่อนล่างบิดออกไปทางด้านนอก และเกิดกลไกลการล๊อคของเข่าเพื่อเสริมความมั่นคงไม่ให้เข่าทรุด นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้งานกล้ามเนื้อรอบๆเข่าเมื่อต้องยืนทรงท่าในท่าเข่าเหยียดตรงอีกด้วย
เมื่อเข่าเหยียดตรงในท่ายืน แรงจากร่างกายก็ขะถูกกระจายจากกระดูกสันหลัง มาสะโพก และกระจายลงสู่พื้นด้วยเข่าทั้ง 2 ข้างครับ ดังนั้นถ้าหากว่าเข่าอยู่ในแนวปกติก็จะเกิดการบาดเจ็บของเข่าได้น้อยเมื่อเทียบกับเข่าที่อยู่ผิดจากแนวปกติ
Alignment ของข้อเข่าในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
สำหรับคนอ้วนนั้นแล้วจะมีพุงล้ำออกมา พุงเมื่อมีการยื่นมาทางด้านหน้าจะทำให้กระดูกสันหลังถูกดึงไปทางด้านหน้าด้วยเนื่องจากว่า center of gravity หรือ จุดศูนย์ถ่วง ถูกดึงไปทางด้านหน้า
“ดังนั้นผู้ที่มีหน้าท้องหรือน้ำหนักเกินจะเกิดภาวะ hyper lordotic curve หรือภาวะหลังแอ่น และนี่แหล่ะครับจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่อาการเข่าแอ่นซึ่งทำให้เข่าไม่อยู่ในแนวปกติ”
เมื่อหลังส่วนล่างแอ่นไปทางด้านหน้าทำให้สะโพกเราแอ่นไปด้านหน้าตามไปด้วย(ดังรูป) หัวกระดูกต้นขาจึงเอนไปทางด้านหน้ามากขึ้น ทำให้ปลายกระดูกต้นขาที่เป็นส่วนของข้อเข่าค่อยๆเคลื่อนตัวไปทางด้านหลังกลายเป็นเข่าแอ่นในที่สุด
แล้วเมื่อเกิดภาวะเข่าแอ่น(knee hyperextension)ส่งผลเสียต่อเข่าอย่างไรขอแยกเป็นข้อเพื่อความเข้าใจง่ายนะครับ
1. แนวการรับแรงเปลี่ยนไปจากแนวเดิม
แนวแรงที่เปลี่ยนไปทำให้แรงกดจากน้ำหนักของร่างกายกดลงมากขึ้นที่เข่าทางด้านหน้าทำให้เข่าเสียความมั่นคงไป เมื่อเป็นมากขึ้นอาการไม่มั่นคงของเข่าก็จะชัดขึ้นเรื่อยๆ
2. กล้ามเนื้อ เอ็นรอบเข่า ทำงานหนักขึ้น
แน่นอนว่าหากเข่าไม่มั่นคงเพื่อป้องกันไม่ให้เข่าทรุดหรือบาดเจ็บร่างกายจึงสั่งให้กล้ามเนื้อรอบเข่าทำงานหนักขึ้นเพื่อประคองเข่าไว้ไม่ให้ทรุดหรือเคลื่อน และทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นต่ออาการปวดเข่า
3. เกิดการบาดเจ็บของเอ็นในข้อเข่าได้ง่าย
เมื่อเข่าผิดไปจากแนวเดิมในกรณีของเข่าแอ่นนี้ ปลายกระดูกต้นขา(distal end of femur))เคลื่อนตัวไปทางด้านหลัง ในขณะที่หัวกระดูกขาส่วนล่าง(proximal end of tibia) อยู่กับที่จึงทำให้เอ็นในข้อเข่าถูกยืดออก
ในข้อเข่าจะมีเอ็นเอ็นหนึ่งเรียกว่า ACL ทำหน้าที่ป้องกันการเหยียดเข่ามากเกินไปดังนั้น เมื่อเข่าเกิดภาวะเข่าแอ่น เข่าจะมีลักษณะที่แอ่นมากกว่าปกติ ดังนั้น ACL จึงถูกยืดออกไป และมีโอกาสที่จะบาดเจ็บได้ค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่แค่ ACL เท่านั้นที่เกิดการบาดเจ็บได้จากภาวะเข่าแอ่น เอ็นอื่นๆที่มีหน้าที่เสริมความมั่นคงของเข่า ที่ยึดระหว่างกระดูกกับกระดูก ก็ถูกยืดและเกิดการบาดเจ็บได้เช่นกันครับ
4. เสี่ยงกับการเกิดภาวะเข่าเสื่อมมากกว่าในผู้ที่มีน้ำหนักปกติ
อย่างที่เราทราบกันดีเข่าเสื่อมเกิดจากการสบกัน การขัดกัน หรือการเสียดสีของข้อเข่า (สาเหตุที่กล่าวมาพูดถึงเฉพาะ primary OA knee) เมื่อเข่าแอ่น การสบกันของข้อเข่าจะมีมากขึ้นและเกิดการเสียดสีกัน ดังนั้นจึงส่งผลต่ออาการเข่าเสื่อมได้และกลายเป็นอาการปวดต่อไปในระยะยาว
จากที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่แรก สรุปกันแบบง่ายๆก็คือ คนที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานหรืออ้วน โดยส่วนใหญ่จะมีหน้าท้อง และผู้ที่มีหน้าท้องมานานจะเกิดลักษณะของร่างกายคล้ายๆกัน คือ หลังแอ่น สะโพกยื่นไปด้าน และมีภาวะเข่าแอ่น ภาวะเข่าแอ่นนี้จะทำให้แนวแรงของเข่าที่ทำหน้าที่รับแรงจากร่างกายถ่ายลงสู่พื้นนั้นเปลี่ยนไป โครงสร้างของเข่าต่างๆจึงทำงานหนักขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น กล้ามเนื้อรอบเข่า เอ็นภายในข้อเข่า เป็นต้น และเกิดเป็นอาการปวดได้ง่ายกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ และเมื่อโครงสร้างเปลี่ยน การทำงานของเข่าก็มีแนวโน้มที่จะแย่ลงด้วยจนเกิดเป็นภาวะเข่าไม่มั่นคง และพัฒนาไปสู่อาการอย่างอื่นและมีอาการปวดเรื้อรัง หรือเข่าเสื่อมในที่สุดครับ
แนวทางการรักษาขอแบ่งเป็น 2 วิธีแบบกว้างๆ
1. การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
ต้นเหตุของปัญหานี้เกิดจากน้ำหนักที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ดีคือการลดน้ำหนักลงครับ แต่!! เนื่องจากว่าโครงสร้างของเข่าและหลังได้เปลี่ยนไปแล้ว จึงต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อปรับโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ การวางตัวของข้อต่อ และอื่นๆด้วย
2. แก้ปัญหาตามอาการ
ในผู้ที่มีภาวะเข่าแอ่นมักจะมีอาการปวดเข่า แต่การปวดเข่าของแต่ละท่านจะแตกต่างกันตามลักษณะการบาดเจ็บ ดังนั้นจะต้องเข้ามาตรวจประเมินและวางแผนการรักษากับนักกายภาพบำบัดครับ
วิธีการแก้ไขทั้งรักษาจากต้นเหตุและรักษาตามอาการจะต้องรักษาไปพร้อมๆกันจะแยกรักษาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะไม่สามารถทำให้อาการดีขึ้นในระยะยาวได้ ถ้าพูดให้เห็นภาพคือ หากเลือกที่จะแก้ปัญหาโดยการลดปวดเพียงอย่างเดียวไม่ปรับโครงสร้างตามแผนการรักษาระยะยาว นั่นแสดงว่าสาเหตุจะยังคงอยู่และจะกลับมาเป็นซ้ำได้เรื่อยๆครับ
หากท่านเริ่มรู้สึกว่ามีภาวะเข่าแอ่นหรือไม่แน่ใจว่าที่เราเป็นอยู่นี้ใช่ภาวะเข่าแอ่นไหม แนะนำให้เข้ามาปรึกษากับนักกายภาพบำบัดได้ที่ คลินิกกายภาพบำบัด Zenista Health and Wellness เรามีบริการให้คำปรึกษา ตรวจประเมิน และทดลองการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ภาวะเข่าแอ่นแม้ว่าจะมีอาการปวดแล้วหรือยังไม่มีอาการปวด ก็ควรที่จะได้รับการแก้ไขเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต อาการปวด ป้องกันง่ายกว่ารักษา และหากไม่ทราบว่าต้องป้องกันอย่างไรให้นึกถึงเรา คลินิกกายภาพบำบัด Zenista Health and Wellness ครับ