5 วิธี ฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อมง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

     ภาวะข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและผู้ที่ใช้ข้อเข่าหนักมาเป็นเวลานาน การรักษาและการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันความรุนแรงที่มากขึ้นของอาการข้อเข่าเสื่อม

และนอกจากนี้ การฟื้นฟูจะยังช่วยให้การทำงานของข้อเข่าดีขึ้น ลดอาการปวด และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอีกด้วย

     ในปัจจุบันที่การแพทย์มีความก้าวหน้ามากขึ้น ดังนั้นจึงมีหลากหลายวิธีในการฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อม จะมีอะไรบ้าง เชิญติดตามได้ในบทความนี้ครับ

 

โรคเข่าเสื่อมคืออะไร

     ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis Knee) เป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนภายในข้อเข่า กระดูกอ่อนทำหน้าที่เป็นเบาะรองกันกระแทกและช่วยให้ข้อเข่าเคลื่อนไหวได้ราบรื่น เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อมสภาพลงจะทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างกระดูกต้นขาและกระดูกขาส่วนล่างที่ประกอบดันเป็นข้อเข่า ทำให้เกิดอาการปวด บวม และข้อเข่าฝืด ขัด การเสื่อมสภาพนี้มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุเนื่องจากกระดูกอ่อนที่ข้อเข่ามีการใช้งานมานาน

     นอกจากผู้สูงอายุแล้ว โรคข้อเข่าเสื่อมยังสามารถเกิดขึ้นในผู้ที่มีการใช้งานข้อเข่าหนัก ๆ เช่น นักกีฬา คนงานก่อสร้าง หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก เนื่องจากการใช้งานข้อเข่าหนักจะเพิ่มความเสี่ยงในการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนภายในข้อเข่า ทำให้ข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นเร็วขึ้น และรุนแรงขึ้น อาการของข้อเข่าเสื่อมมักจะเริ่มจากการปวดข้อ ข้อเข่าฝืดในตอนเช้าหรือหลังการพักผ่อน และมีเสียงกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหว

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเข่าเสื่อม

การเกิดข้อเข่าเสื่อมมีปัจจัยหลายอย่างที่สามารถกระตุ้นและเร่งให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้นได้ครับ

อายุ: เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดข้อเข่าเสื่อมก็เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากกระดูกอ่อนที่ข้อเข่ามีการเสื่อมสภาพตามปกติเมื่อมีการใช้งานเข่ามาเป็นเวลานาน

น้ำหนักตัว: ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากจะมีแรงกดที่ข้อเข่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับคนน้ำหนักน้อยกว่า ทำให้กระดูกอ่อนเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการเข่าเสื่อมเร็วขึ้นตามไปด้วย

การใช้งานข้อเข่าอย่างหนัก: การทำกิจกรรมที่ใช้ข้อเข่าหนัก ๆ เช่น การวิ่งทางไกล การกระโดด หรือนั่งยองนาน ๆ เดินในพื้นที่ขรุขระเป็นประจำ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้

การบาดเจ็บที่ข้อเข่า: การบาดเจ็บที่ข้อเข่า เช่น ข้อเข่าบิดหรือกระแทกแรง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้ในอนาคต

 

หากไม่ได้รับการฟื้นฟูจะเกิดอะไรขึ้น

หากผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง อาการของโรคจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ดังนี้ครับ

เกิดการจำกัดการเคลื่อนไหว: การเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนภายในข่อเข่า จะทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าลดลงเนื่องจากมีอาการเจ็บ/ปวดเมื่อเคลื่อนไหว ผู้ป่วยจะรู้สึกข้อเข่าติด เคลื่อนไหวลำบากโดยเฉพาะที่เข่ามีการพักใช้นาน ๆ เช่นหลังตื่นนอน

ปวดเรื้อรัง: อาการปวดจากข้อเข่าเสื่อมจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่ได้รับการฟื้นฟู ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาบรรเทาอาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ

ความสามารถในการทำกิจกรรมลดลง: การเสื่อมสภาพของข้อเข่าจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ เช่น เดินขึ้นบันได นั่งยอง หรือยืนเป็นเวลานาน

เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน: ข้อเข่าเสื่อมที่ไม่ได้รับการฟื้นฟูอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอ่อนแรง ข้อเข่าติด เข่าโก่ง หรือกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพจากการเปลี่ยนท่าทางการเดิน

 

5 วิธี ฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อมง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

การฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ วิธีการฟื้นฟูที่แนะนำมีดังนี้ครับ

การออกกำลังกายในน้ำ

เช่นการว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระทำต่อข้อเข่าน้อย และยังช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าได้จึงดีมากสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

ปั่นจักรยาน 

การปั่นจักรยานเป็นการใช้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าโดยตรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าที่มีหน้าที่ในการพยุงลูกสบ้าให้มั่นคงขึ้น

หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จะส่งผลให้อาการข้อเข่าเสื่อมมีเพิ่มมากขึ้น และเข่าเสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้นการหลีกเลี้ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จึงเป็นอีก 1 วิธีในการฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อม

หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บบริเวณเข่า

ไม่เฉพาะแค่ผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมเท่านั้น ที่ควรหันมาใส่ใจข้อเข่า แต่ทุกคนควรดูแลเข่าให้ดีเพื่อป้องกันอาการปวดเข่าที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อเข่า เช่น การลดน้ำหนัก การหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้ข้อเข่าหนัก และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดข้อเข่าเสื่อม

 

อาการข้อเข่าเสื่อมแบบไหนควรรีบปรึกษาแพทย์ และนักกายภาพบำบัด

ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมควรรีบปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดหากมีอาการดังต่อไปนี้

อาการปวดรุนแรง

ควรพบแพทย์ เมื่อมีอาการปวดข้อเข่าที่รุนแรง ไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาบรรเทาอาการปวดทั่วไป หรือปวดจนขยับไม่ได้

บวมแดง

หากข้อเข่ามีอาการบวมแดง หรือรู้สึกอุ่นหรือร้อนเมื่อสัมผัส แสดงว่าอาจมีการอักเสบหรือติดเชื้อที่ข้อเข่าซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ ควรปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดเมื่อมีอาการบวมแดง

ลงน้ำหนักไม่ได้

หากไม่สามารถลงน้ำหนักที่ข้อเข่าได้ หรือรู้สึกข้อเข่าล้าและไม่มั่นคงเมื่อเดินให้พยายามหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักไว้ก่อนในเบื้องต้นเพื่อไม่ให้อาการที่เป็นอยู่มีความรุนแรงมากขึ้น และระวังการล้ม

ข้อเข่าติด

ควรปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัด เมื่อข้อเข่าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เต็มที่ และรู้สึกข้อเข่าติดขัดเมื่อลุกนั่ง

เสียงกรอบแกรบเมื่อเคลื่อนไหว

เสียงกรอบแกรบในข้อเข่าบ่งบอกถึงความขรุขระภายในเข่าที่เกิดจากการกร่อนของผิวข้อ ดังนั้นหากมีเสียงกรอบแกรบให้รีบปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดครับ

 

     การฟื้นฟูข้อเข่าเสื่อมมีความสำคัญในการช่วยลดอาการปวดและเพิ่มคุณภาพชีวิต การฟื้นฟูสามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยการออกกำลังกายในน้ำ การปั่นจักรยาน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและการบาดเจ็บบริเวณเข่า รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนักและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้ข้อเข่าหนัก หากมีอาการปวดรุนแรง บวมแดง ไม่สามารถลงน้ำหนักที่ข้อเข่าได้ ข้อเข่าติด หรือมีเสียงกรอบแกรบ ควรรีบปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อประเมินและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

     การฟื้นฟูข้อเข่ามีความจำเป็นอย่างมากในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากสามารถชะลอการเสื่อมสภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ การฟื้นฟูที่เหมาะสมกับแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามข้อจำกัดและอาการที่พบ ควรให้แพทย์ และนักกายภาพบำบัดประเมินและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม หากคุณมีอาการปวดเข่า สามารถเข้ามาปรึกษาที่ Zenista Health and Wellness สาขาชลบุรี และสาขาเพชรบุรี หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @zenista

บริการแนะนำ

กายภาพบำบัด,กายภาพบำบัด ชลบุรี, กายภาพบำบัด เพชรบุรี

กายภาพบำบัด

คลินิกกายภาพบำบัด ชลบุรี เพชรบุรี ZENISTA CLINIC

รักษาข้อเข่าเสื่อม,รักษาข้อเข่าเสื่อม ชลบุรี, รักษาข้อเข่าเสื่อม เพชรบุรี

รักษาข้อเข่าเสื่อม

คลินิกกายภาพบำบัด ชลบุรี เพชรบุรี ZENISTA CLINIC

รักษาออฟฟิศซินโดรม,รักษาออฟฟิศซินโดรม ชลบุรี, รักษาออฟฟิศซินโดรม เพชรบุรี

รักษาออฟฟิศซินโดรม

รักษาออฟฟิศซินโดรม อาการปวดหลังเรื้อรัง