ออฟฟิศซินโดรม กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด
ชีวิตสังคมเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้เรามีชีวิตที่แข่งขันกันสูงมากขึ้น วันๆ ต้องทำแต่งานกับงานจนมองข้ามสุขภาพร่างกายของตัวเองไป กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของคนเมือง มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็น โรคออฟฟิศซินโดรมหรือคอมพิวเตอร์ซินโดรม ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการทำงาน อันเป็นผลพวงให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมา
ออฟฟิศซินโดรม คือโรคอะไร
ออฟฟิศซินโดรม หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) คือ อาการปวดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดเดิมๆซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง อักเสบ โดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น การนั่งทำงานต่อเนื่องกับคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนท่าทางหรืออริยาบท จนทำให้เกิดอาการปวดสะสมและกลายเป็นปวดเรื้อรังในที่สุด ซึ่งอาจพบร่วมกับอาการชาบริเวณแขน, มือ และปลายนิ้ว เนื่องอาจเกิดจากการที่เส้นประสาทส่วนปลายในแต่ละตำแหน่งถูกกดทับอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และการดูแลสุขภาพของตนเอง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้
อาการของออฟฟิศซินโดรม เป็นอย่างไร
มีอาการปวดกล้ามเนื้อ จะมีลักษณะอาการปวดล้า ๆ เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น บ่า ไหล่ คอ สะบัก มักมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง อาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณใกล้เคียงร่วมด้วย หรือมีอาการชาลงมาที่แขน โดยความรุนแรงจะสามารถเป็นได้ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยไปจนถึงอาการปวดรุนแรงและทรมาน
มีอาการทางระบบประสาท อาการชาจะบ่งบอกถึงพยาธิสภาพที่ระบบประสาท เช่น ชา บริเวณมือและแขน หากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไปจะมีอาการอ่อนแรงที่อวัยวะนั้นร่วมด้วย
มีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น วูบ เย็น เหน็บ ขนลุก และเหงื่อออกตามบริเวณที่ปวดร้าว หากเป็นบริเวณคออาจมีอาการมึนงง หูอื้อ ตาพร่ามัว
ออฟฟิศซินโดรมอันตรายไหม
โรคนี้จะส่งผลให้เกิดอาการของโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อตามมาได้ เช่น
- กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome) อาการปวดจากการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดเดิมๆซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
- เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome)มักมีอาการเริ่มต้นคือชานิ้วมือ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยในผู้หญิงวัยทำงาน โดยอาการชาจะค่อย ๆ เป็นบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ โดยส่วนมากมักจะมีอาการชาในตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน และจะชาเกือบตลอดเวลาในเวลาต่อมา
- กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow) อาการ เจ็บข้อศอกด้านข้าง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภาวะเอ็นข้อศอกด้านข้างเสื่อมหรือ Tennis Elbow ผิวข้อกระดูกอ่อนเสียหาย หินปูนแคลเซียมเกาะเส้นเอ็น ซึ่งวินิจฉัยได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายที่เหมาะสมโดยแพทย์ที่มีประสบการณ์
- นิ้วล็อก (trigger finger)เป็นอาการที่เกิดจากการอักเสบของปลอกเอ็นนิ้วมือทำให้มีการหนาขึ้นส่งผลให้ไม่สามารถยืด หรือหดนิ้วได้ตามปกติ โดยนิ้วที่พบว่ามักเกิดอาการดังกล่าวคือ นิ้วโป้ง นิ้วกลาง และนิ้วนาง หรืออาจจะเกิดขึ้นได้ทุกนิ้ว และอาจเกิดขึ้นได้ทั้งนิ้วมือทั้งสองข้างอีกด้วย
- เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)
- ปวดหลังจากท่าทางผิดปกติ (postural back pain)
- หลังยึดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)
ท่านสามารถเข้ามาขอคำปรึกษาจากนักกายภาพบำบัด “คลินิกกายภาพบำบัด Zenista Health and Wellness” เพื่อทราบวิธีที่เหมาะกับตัวของท่านได้ครับ