โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก (Bell’s palsy) คืออะไร?
Bell's Palsy คือความผิดปกติทางระบบประสาท ที่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า ที่พบได้บ่อย ๆ ซึ่งแสดงอาการเป็นอัมพาตใบหน้าข้างเดียวอย่างกะทันหันครับ ชื่อโรคตั้งตาม เซอร์ชาร์ลส์ เบลล์ ซึ่งเป็นคนแรกที่บรรยายอาการนี้ในปี พ.ศ. 2364 โดยโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ( Bell’s palsy) ส่งผลกระทบต่อคนทุกวัยและทุกเพศ โดยมีอัตราการเกิดประมาณ 20-30 รายต่อ 100,000 คนต่อปี
สาเหตุของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก (Bell’s palsy)
สาเหตุที่แท้จริงของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ( Bell’s palsy) เชื่อว่ามีหลายปัจจัยที่สามารถส่งผลให้เกิดอาการได้ครับ เช่น
1.การติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะไวรัสเริมชนิดซิมเพล็กซ์ 1 (HSV-1) มีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดโรคของ Bell's Palsy การติดเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ไวรัส varicella-zoster (VZV) และไวรัส Epstein-Barr (EBV) ก็มีความเกี่ยวข้องกับอาการนี้เช่นกัน
2.ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ส่งผลให้เกิดโรค Bell's Palsy ได้
อาการของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก (Bell’s palsy)
Bell's Palsy มักแสดงอาการเฉียบพลัน เริ่มโดยมีอาการใบหน้าอ่อนแรงข้างเดียวหรือเป็นอัมพาตอย่างกะทันหัน ผู้ป่วยอาจมีประวัติต่าง ๆ ที่สามารถส่งผลให้เป็นโรคนี้ได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ปวดหู (otalgia) หรือการรับรสผิดปกติ มาก่อนหน้านี้
อาการใบหน้าอ่อนแรงมักเกิดขึ้นสูงสุดภายใน 48-72 ชั่วโมง และมักจะส่งผลต่อ การเลิกหน้าผาก การหลับตา การยิ้ม ทำให้ใบหน้า 2 ข้างดูไม่เท่ากันครับ
อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้คือ มีความไวต่อการรับเสียงเพิ่มขึ้น สูญเสียการรับรส และน้ำตาไหลหรือน้ำลายไหลมากเกินไปในข้างที่มีอาการอ่อนแรง
การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ( Bell’s palsy) นั้น จะดูจากลักษณะที่แสดงออกมาของโรค เช่น ใบหน้าเบี้ยว มุมปากตก ยักคิ้วไม่ได้ และจำเป็นต้องแยกแยะสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้ของอัมพาตใบหน้า เช่น การบาดเจ็บของเส้นประสาท โรคหลอดเลือดสมอง หรือเนื้องอก ต้องมีการซักประวัติและการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อความชัดเจนและครอบคุมในการวินิจฉัยโรค
ภาวะแทรกซ้อนของอาการของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก (Bell’s palsy)
โดยทั่วไปอาการของโรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก จะหายได้ภายในสามถึง ถึงหกเดือนแต่ระหว่างนั้นอาจเกิดอาการแทรกซ้อนบางอย่างได้ เช่น
1.ไม่สามารถแสดงสีหน้าได้อย่างเต็มที่
2.ตาแห้ง ตาอักเสบ
3.ทานอาหารลำบาก
4.ส่งผลกระทบต่อสภาวะจิตใจ
การรักษา Bell's Palsy มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูเส้นประสาทใบหน้าที่ทำให้เกิดภาวะอ่อนแรง และป้องกันภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจพิจารณาการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน ภายใน 72 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ
หรืออาจพิจารณาใช้ยาต้านไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ ในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัสเริม และการรักษาตามอาการ ซึ่งรวมถึงการปกป้องดวงตา การให้น้ำตาเทียม และการทำกายภาพบำบัด มีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพตาและฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าให้สู่ภาวะปกติใบหน้า
โรคกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก (Bell’s palsy) เป็นโรคที่ดูไม่อันตราย แต่หากเป็นแล้วก็สามารถส่งผลเสียได้ในหลาย ๆ ด้าน ดังนั้นหากมีอาการแล้ว ควรรีบหาทางรักษาหรือปรึกษาแพทย์ที่คลินิก หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน