อาการปวดเข่า บาดเจ็บยิ่งเป็นนานยิ่งหายยาก
ผมเชื่อว่าทุกท่านเคยมีอาการปวดเข่ากันมาบ้างแล้ว หนักบ้าง เบาบ้าง แล้วแต่สาเหตุ บางคนก็หายเองได้ อันนี้ถือว่าดีไป แต่สำหรับบางคนอาการที่เป็นกลับไม่หายเองตรงนี้แหล่ะครับที่ทำให้ผมอยากเขียนบทความเรื่อง “เมื่อมีอาการปวดเข่าจะมีปัญหาอะไรตามมาได้บ้าง” ขึ้นมาเนื่องจากว่าหากอาการบาดเจ็บไม่หายไป อาการนั้นจะส่งผลให้โครงสร้างอื่นๆรอบๆบริเวณที่บาดเจ็บเจ็บตามไปด้วย ทำให้ต้องเพิ่มวิธีการรักษาและที่สำคัญอาการบาดเจ็บยิ่งเป็นนานยิ่งหายยาก
กล้ามเนื้อในร่างกายส่วนใหญ่จะเกาะอยู่กับกระดูก บางมัดจะเกาะข้ามข้อต่อ 1 ข้อต่อ(one joint muscle) และบางมัดจะเกาะข้าม 2 ข้อต่อ (two joint muscle) กล้ามเนื้อทำงานโดยการหดตัวและคลายตัวเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวหรือการทำงานอื่นๆตามหน้าที่ของกล้ามเนื้อนั้นๆ เมื่อกล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บหรือเกิดความผิดปกติ ในกรณีของกล้ามเนื้อที่เกาะข้าม 2 ข้อต่อ(two joint muscle) มีอาการบาดเจ็บก็จะมีโอกาสทำให้เกิดการบาดเจ็บกับข้อต่อบริเวณข้างเคียงได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีอาการปวดบริเวณคอและบ่า ไหล่ก็มักจะมีอาการปวดตามมาได้ด้วยหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
หรืออีก 1 อย่าง ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บกับกล้ามเนื้อหรือโครงสร้างอื่นๆบริเวณข้างเคียงได้คือการทำงานร่วมกันของร่างกาย ยกตัวอย่างบริเวณบ่าเหมือนเดิมครับ ในคนที่มีอาการเจ็บที่บริเวณบ่าข้างขวาแล้วมักจะมีอาการปวดบ่าซ้ายตามมาเนื่องจากว่าเมื่อมีอาการปวดบ่าขวา คนที่ปวดหรือมีอาการบาดเจ็บมักจะมีการลดการใช้งานข้างขวาทำให้ข้างซ้ายมีการทำงานที่มากขึ้นและมีอาการปวดหรือบาดเจ็บตามมาในที่สุด
นอกจากกล้ามเนื้อบาดเจ็บแล้วโครงสร้างอื่นๆของข้อต่อเช่น เอ็นรอบข้อ หมอนรองข้อหรืออื่นๆ หากเกิดอาการบาดเจ็บแล้วก็ส่งผลต่อโครงสร้างข้างเคียงดังที่กล่าวมาแล้วได้
เมื่อเข้าใจคอนเซปคร่าวๆแล้วเรามาดูกันครับว่ามีโครงสร้างไหนอยู่ใกล้ๆกับเข่าบ้าง
ข้อสะโพก
เป็นข้อต่อที่อยู่เหนือเข่าขึ้นไป เป็นจุดที่ร่างกายใช้รับแรงของร่างกายส่วนบนเพื่อกระจายไปยังเข่าและถ่ายเทลงพื้นต่อไป หากมีอาการบาดเจ็บบริเวณสะโพกปัญหาที่เรามักจะเห็นกันได้บ่อยๆคือมีปัญหาการเดินลำบาก เดินกระเผลกทิ้งน้ำหนักลงขาสองข้างไม่เท่ากันส่งผลต่อเรื่องการใช้ชีวิตประวันและบุคลิกภาพ และที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบคืออาจจะส่งผลทำให้มีปัญหาบริเวณกระดูกสันหลังได้อีกด้วย
ข้อเท้า
เป็นข้อต่อที่อยู่ต่ำลงมาจากเข่าทำหน้าที่กระจายแรงลงสู่พื้น ทรงท่าในการยืนหรือเดิน เมื่อเกิดการบาดเจ็บจะส่งผลต่อการลงน้ำหนัก ยืนทรงท่าได้ไม่ดีเสี่ยงต่อการล้ม เดินได้ไม่ถนัดต้องคอยเลี่ยงอาการบาดเจ็บซึ่งสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งในผู้สูงอายุไม่ควรให้เกิดเหตุการณ์พลัดตกหกล้มอย่างเด็ดขาดเนื่องจากว่าอุบัติการณ์พลัดตกหกล้มสามารถนำไปสู่การติดเตียงหรือการเสียชีวิตได้ ในนักกีฬาก็จะทำให้ performance ตกได้
แล้วแค่บาดเจ็บที่เข่าทำไมถึงส่งผลถึงข้อสะโพกหรือข้อเท้าได้
อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นครับว่าถ้าเรามีอาการบาดเจ็บที่จุดไหนสักจุดหนึ่งโครงสร้างบริเวณใกล้เคียงก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยได้ กรณีที่มีอาการเจ็บเข่าผู้ที่มีอาการบาดเจ็บมักจะหลีกเลี่ยงการเดินลงน้ำหนักขาข้างที่มีอาการบาดเจ็บเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้มีอาการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นตามกลไกลของร่างกาย
ดังนั้นขาอีกข้างหนึ่งจะถูกใช้งานหนักขึ้นเราเรียกรูปแบบนี้ว่าการcompensation จะมีการรับแรงจากร่างกายเพื่อกระจายลงสู่พื้นของขาอีกข้างหนึ่งมากขึ้น เกิดการบีบอัดของข้อต่อที่มากขึ้นรวมถึงกล้ามเนื้อขาทั้งท่อนจะต้องทำงานมากขึ้นด้วยและในที่สุดก็เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆของขาได้ และหากมีการ compensation ที่นานพอจนร่างกายเคยชินร่างกายจะจดจำการcompensation นี้ว่าเป็นลักษณะปกติของตัวเราเองและเราจะติดการลงน้ำหนักของขาไม่เท่ากันแม้ว่าอาการบาดเจ็บที่เป็นก่อนหน้านี้จะหายแล้วก็ตาม ซึ่งความเคยชินดังกล่าวนี้จะส่งผลถึงโครงสร้างต่างๆต่อไปด้วยเช่น เกิดภาวะกระดูกสันหลังคด ข้อเสื่อมและอื่นๆอีกหลายอย่าง
ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดเข่าจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ความท้าทายหนึ่งของการรักษาอาการบริเวณข้อเข่าคือการลดความเคยชินจากการลงน้ำหนักไม่เท่ากันเพื่อป้องกันปัญหาอื่นๆที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วในอนาคต การรักษาเข่าจึงไม่ใช่การดูและให้หายเจ็บเท่านั้น แต่จำเป็นต้องดูอาการข้างเคียงอื่นๆทั้งที่ตัวผู้บาดเจ็บเองรู้สึกหรือไม่รู้สึกด้วย ปัญหาเข่าเพียงเล็กน้อยแต่สามารถส่งผลอย่างรุนแรงได้ในระยะยาวเพราะฉะนั้นหากมีอาการปวดเข่า บาดเจ็บที่เข่า หรืออาการอื่นๆ มาเถอะครับ เข้ามาปรึกษากับนักกายภาพบำบัด ท่านจะได้รับคำแนะนำที่ดีและสามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองเพื่อป้องกันการเป็นซ้ำของอาการบาดเจ็บ
ZENISTA clinic ยินดีให้คำปรึกษาโดยนักกายภาพบำบัดที่มากประสบการณ์ และดูแลท่านได้อย่างครอบคลุม ท่านสามารถเข้ามาขอคำปรึกษาจากนักกายภาพบำบัด “คลินิกกายภาพบำบัด Zenista Health and Wellness” เพื่อทราบวิธีที่เหมาะกับตัวของท่านได้ครับ