เจ็บที่บริเวณหมอนรองกระดูก อาจกดทับเส้นประสาทไขสันหลัง
อาการปวดหลังส่วนล่างพบได้บ่อยมากๆเนื่องจากกล้ามเนื้อหลังเป็นส่วนที่ทำงานแทบตลอดเวลาไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอนกล้ามเนื้อหลังมักจะทำงานอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นคนส่วนใหญ่ถึงมีอาการปวด แต่ในบางคนที่ทำงานหนักๆ หรืออยู่ในท่าที่หลังส่วนล่างงอเป็นเวลานานมักจะมีอาการร้าวลงขาร่วมด้วยเนื่องจากว่ามีการบาดเจ็บที่บริเวณหมอนรองกระดูกแล้วไปรบกวนหรือกดทับเส้นประสาทไขสันหลังที่อยู่ใกล้เคียง
หมอนรองกระดูกสันหลังมีลักษณะเป็นวุ้น 2 ชั้น ลองดูภาพตามไปพร้อมๆกันนะครับ วุ้นที่มี 2 ชั้น ชั้นนอกเป็นวุ้นที่มีลักษณะแข็งๆเราเรียกชั้นนี้ว่า annulus fibrosus ทำหน้าที่ในการห่อหุ้มวุ้นที่อยู่ด้านในที่เรียกว่า nucleus pulposus ทั้งสองส่วนนี้ประกอบกันเป็นหมอนรองกระดูกสันหลังทำหน้าที่ในการซับแรงกระแทกของร่างกายในขณะทำกิจกรรมต่างๆ หากไม่มีหมอนรองกระดูกสันหลังเวลาที่เดิน กระโดด เคลื่อนไหว กระดูกที่แข็งๆจะเกิดการเสียดสีกันกลายเป็นอาการปวดและในระยะยาวก็จะเกิดภาวะกระดูกสันหลังเสื่อมได้ง่ายขึ้นด้วย เมื่อ annulus fibrosus เกิดการบาดเจ็บหรือฉีกขาดวุ้นข้างในก็จะค่อยๆเคลื่อนตัวออกมาได้ ถ้ามีการเคลื่อนตัวเพียงเล็กน้อยของวุ้นชั้นในก็อาจจะแค่มีเพียงอาการปวดๆหน่วงๆบริเวณหลังส่วนล่างเท่านั้น แต่เมื่อมีการกระตุ้นให้มีการเคลื่อนตัวหรือมีการปลิ้นมากขึ้นจนวุ้นชั้นนอกมีการนูนออกมา อาการก็จะเริ่มรุนแรงตามไปด้วย จะเริ่มมีอาการปวดมากขึ้น และจะเริ่มรู้สึกว่ามีอาการเสียวๆบริเวณหลังส่วนล่าง หากรอยนูนดังกล่าวไปชนกับเส้นประสาทไขสันหลังจะเกิดอาการชาร้าวทันที อาการชาร้าวนี้จะไม่เหมือนกับอาการชาที่เหมือนกับเป็นเหน็บเหมือนตอนนั่งนานๆ แต่จะเป็นอาการคล้ายๆแสบร้อนเหมือนไฟลวก บางครั้งจะเหมือนไฟช๊อตแปล๊บๆแบบนั้นเลยครับ ถ้ามีอาการคล้ายนี้ให้สงสัยได้เลยว่าอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแล้วครับ
ปัจจัยที่มักจะส่งเสริมให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทหลักๆคือกิจกรรมที่มีการก้มตัวแล้วออกแรง ยกตัวอย่างชัดๆคือก้มตัวเก็บของ ผู้ป่วยที่มาปรึกษาส่วนใหญ่จะบอกว่า “ผมไปก้มตัวยกของมาแล้วก็เจ็บเลยครับหมอ” บางคนก็ “ผมเอี้ยวตัวไปหยิบของหลังรถแล้วก็มีอาการเสียวแปล๊บเลยครับ” เห็นไหมครับจุดรวมระหว่าง 2 เหตุการณ์นี้คือ มีลักษณะของการก้มตัว/เอี้ยวตัว แล้วออกแรง ปัจจัยต่อมาคือ กิจกรรมที่ มีการอยู่ในท่างอหลังนานๆและเป็นประจำแม้จะไม่ออกแรงเยอะก็ตาม ปัจจัยนี้จะค่อยๆส่งเสริมให้เกิดอาการหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาทแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป เช่นการนอนเปลผ้าใบชายหาดที่เป็นแอ่งยุบลงไป หรือการขับรถทางไกลก็สามารถส่งผลได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้แล้วน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน คนตัวสูง เพศ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง ก็ส่งผลให้เกิดภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้อีกด้วย
วิธีเช็คอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทด้วยตัวเองอย่างง่าย
- ปวดหลังส่วนล่างพร้อมกับมีอาการเสียวลงขาเหมือนไฟช๊อต
- เมื่องอหรือก้มตัวอาการร้าวลงขาจะเพิ่มขึ้น
- เมื่อไอ/จามหรือเบ่ง เกิดอาการร้าวลงขาหรือเสียวๆบริเวณหลัง
- เมื่อนอนหงายยกขาขึ้น 1 ข้าง(คนอื่นยกให้) จะมีอาการเสียวที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง
4 ข้อนี้เป็นวิธีการที่ใช้ประเมินคร่าวๆว่ามีอาการใกล้เคียงกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หากเช็คแล้วมีอาการใกล้เคียงให้รีบเข้ามาปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเพื่อวางแผนการรักษากันต่อไปครับ
วิธีดูแลตัวเองจากภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- หลีกเลี่ยงการก้มตัวยกของหนัก/การเอี้ยวตัวหยิบของ
- ดูแลกล้ามเนื้อหลังให้มีความแข็งแรง แนะนำท่า bridging ครับ (นอนหงาย ชันเข่า ยกก้น ขึ้นลงช้าๆ 10 ครั้ง/ชุด 3 ชุด ทุกๆวัน)
- หลีกเลี่ยงการก้มตัวหรืองอตัวเป็นเวลานานๆ
- เวลาไอจามไม่ก้มตัวไปข้างหน้า
ทั้งหมดที่กล่าวมาในบทความนี้อยากให้ทุกๆท่านได้แชร์ให้เพื่อนๆหรือคนที่ห่วงใยได้อ่านเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าว ทุกๆโรค ทุกๆภาวะที่เกิดขึ้นมาแล้วย่อมส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เกิดความไม่สุขสบายเพราะฉะนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดย่อมดีที่สุดครับ ท่านสามารถเข้ามาขอคำปรึกษาจากนักกายภาพบำบัด “คลินิกกายภาพบำบัด Zenista Health and Wellness” เพื่อทราบวิธีที่เหมาะกับตัวของท่านได้ครับ