กล้ามเนื้อน่องตึง ส่งผลเสียได้มากกว่าที่ท่านคิด
ผมเชื่อว่าหลายๆท่านอาจเคยมีประสบการณ์อาการเจ็บที่ใต้ฝ่าเท้า อาการเจ็บเข่า ปวดลึกๆที่ข้อพับเข่า หรืออาการอื่นๆกันมาบ้างแล้ว เมื่อรักษาหายแล้วอาการจะหายไปพักใหญ่และกลับมาเป็นซ้ำอีก การเป็นซ้ำนี้สามารถเกิดขึ้นได้หากกล้ามเนื้อน่องของท่านมีอาการตึง อาจจะน่าสงสัยว่า เอ๊ะ!! เจ็บที่ใต้ฝ่าเท้านะ หรือ เจ็บที่ข้อพับเข่านะ ไม่ได้เจ็บที่น่องซะหน่อย มันจะเกี่ยวกันได้อย่างไร ผมยืนยันครับว่าเกี่ยวกันแน่นอนและในบทความนี้เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมๆกันครับว่ามันเกี่ยวกันได้อย่างไร
จะเข้าใจความสัมพันธ์ได้ต้องรู้ก่อนว่าโครงสร้างของกล้ามเนื้อน่องเป็นอย่างไร กล้ามเนื้อน่องเป็นกล้ามเนื้อที่เกาะยาวตั้งแต่หลังเข่าลงมาถึงข้อเท้าและแผ่ลงไปที่ใต้ฝ่าเท้า ตรงจุดเกาะตรงหลังเข่ากล้ามเนื้อจะแยกออกเป็น 2 หัว กล้ามเนื้อนี้ทำหน้าที่ หลักๆคือกดปลายเท้าลง และช่วยในการงอเข่า เริ่มเห็นความสัมพันธ์ไหมครับ ความสัมพันธ์คือ….
1. กล้ามเนื้อนี้มีจุดเกาะที่ข้อเข่าและข้อเท้า
2. มีแผ่นเอ็นที่ต่อเนื่องมาจากข้อเท่าแผ่ไปที่ใต้ฝ่าเท้า
ในกรณีที่มีอาการตึงที่น่องจึงส่งผลเสียต่อโครงสร้างที่กล้ามเนื้อมาเกาะได้ ยิ่งตึงมากยิ่งส่งผลเสีย และหากปล่อยไว้นานก็สามารถส่งผลเสียไปโครงสร้างอื่นๆที่อยู่ไกลๆ เช่น หลัง เป็นต้น
นี้เข้าสู่หัวข้อที่ได้เกริ่นไปแล้วคือ “ถ้าน่องตึงส่งผลเสียอย่างไรได้บ้าง”
มาเริ่มที่เข่ากันครับ
เข่าในลักษณะปกติจะเหยียดตรงได้ 180องศา บวกลบ 5-10 องศา เมื่อเข่าเหยียดสุดจะเกิดกลไกลการล๊อคของข้อเข่าให้อยู่ในสภาวะที่มั่นคงของข้อเข่าในขณะลงน้ำหนัก เพื่อป้องกันการล้ม หรือการทรุดของเข่า และนอกจากนี้การล๊อคของเข่าเมื่อเข่าเหยียดตรงยังช่วยให้ลดการใช้งานของกล้ามเนื้ออีกด้วย หากเข่าไม่สามารถเหยียดตรงได้แรงที่เข่าต้องรับน้ำหนักจากร่างกายจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้โครงสร้างต่างๆในข้อเข่าต้องทำงานหนักและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่ายมากขึ้น ถ้าเข้าใจ concept นี้แล้ว เรามาลองเชื่อมโยงเข้ากับอาการตึงของกล้ามเนื้อน่องกันครับ กล้ามเนื้อน่องเมื่อตึงแล้วอาจจะทำให้เกิดข้อเข่างอเล็กน้อยได้( slightly knee flexion position) ในระยะเริ่มแรกจะสังเกตไม่เห็นว่าเข่างอในขณะยืนลงน้ำหนัก แต่สามาถสังเกตเห็นได้ตอนนั่งเหยียดขาหรือนอนหงาย จะเห็นเลยว่าข้อเข่างอขึ้นมาเล็กน้อย แต่ว่าหากปล่อยไว้นานๆไม่ได้รับการแก้ไข กล้ามเนื้อจะตึงขึ้นเรื่อยๆจนในที่สุดแม้ขณะยืนลงน้ำหนักก็เกิดอาการเข่างอเล็กน้อยได้และเข่าก็จะต้องทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของโครงสร้างภายในเข่าได้มากขึ้นตามที่ได้กล่าวไปครับ
มุมชวนคิด!!
ที่ผมได้บอกไปว่า “อาการตึงกล้ามเนื้อ หากปล่อยไว้นานๆจะตึงมากขึ้น” คำว่าตึงมากขึ้นนี้ มันต้องตึงขนาดไหนล่ะถึงเรียกว่าตึงมากขึ้น ในมุมชวนคิดนี้จะอธิบายให้เข้าใจแบบสั้นๆง่ายๆ เพื่อให้นำไปสังเกตตัวเองกันนะครับ
อาการตึงแบ่ง เป็น 3 ระดับ คือ (ในการยกตัวอย่างนี้ผมขอยกการเหยียดเข่ามาเป็นตัวอย่างนะครับ)
1. Tightness กล้ามเนื้อตึง ตัวอย่าง เหยียดเข่าเองไม่สุด ถ้าให้คนอื่นช่วยออกแรงยืดให้ จะยืดได้สุด
2. Shortening คืออาการตึงของกล้ามเนื้อที่ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อต่อได้เต็มที่ ตัวอย่างเหยียดเข่าเองไม่สุด มีคนช่วยออกแรงยืดก็ยากมากหรือเหยียดไม่สุด
3. Contracture กล้ามเนื้อเสียความยืดหยุ่นไปมากและติดอยู่ในท่านั้นๆขยับเองแทบไม่ได้ คนอื่นช่วยขยับก็ทำได้เพียงเล็กน้อย
จะแบ่งกันประมาณนี้เพื่อแบบเข้าใจง่ายๆนะครับ
กลับเข้าเรื่อง…
แวะไปเรื่องอื่นเสร็จแล้ว เรามาดูผลกระทบของกล้ามเนื้อน่องตึงต่อข้อเท้ากันครับ อย่างที่ได้กล่าวไปคือกล้ามเนื้อน่องมีเอ็นกล้ามเนื้อยาวไปเกาะที่กระดูกส้นเท้า และมีแผ่นพังผืดใต้ฝ่าเท้าแผ่มาเกาะที่ส้นเท้าใกล้กลับเอ็นของกล้ามเนื้อน่อง ยังจำกันได้ไหมครับ!! หน้าที่หนึ่งของกล้ามเนื้อน่องคือ กดปลายเท้าลงเพราะฉะนั้น เมื่อกล้ามเนื้อน่องตึงปลายเท้าก็จะกดลงตามไปด้วย แต่ในการกดปลายเท้าลงนี้หากเรามีการลงน้ำหนักที่เท้าปลายเท้า เช่น การยืน เท้าจะกดลงไม่ได้เพราะติดพื้น นึกภาพตามทันไหมครับ แล้วทีนี้แรงตึงจากกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจะไปลงที่ไหนล่ะ? คำตอบคือแรงตึงที่เกิดขึ้นจะกระจายไปที่ผังผืดใต้ฝ่าเท้าและเอ็นข้อเท้าครับ ดังนั้นเมื่อมีอาการตึงของกล้ามเนื้อน่องจะจะส่งผลให้เกิดอาการเอ็นข้อเท้าอักเสบ(TA tendinitis) และเกิดโรครองช้ำ(plantar fasciitis)ได้ง่ายอีกด้วย (จริงๆเกิดได้อีกหลายโรค แต่ 2 โรคนี้เป็นโรคที่เจอได้บ่อย)
สรุปคือ เมื่อมีอาการตึงน่อง จะส่งผลให้โครงสร้างของข้อเข่าค่อยๆเปลี่ยนไปและเกิดการบาดเจ็บของเข่าได้ง่าย และข้อเท้าจะเกิดการบาดเจ็บส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นอาการตึงอย่าปล่อยไว้ รีบจัดการก่อนที่จะส่งผลเสียไปที่อื่นๆครับ
และหากไม่รู้ว่าจะจัดการกับปัญหาอาการตึงนี้อย่างไรดีแนะนำให้เข้ามาปรึกษาเราที่ “คลินิกกายภาพบำบัด Zenista Health and Wellness” ท่านสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมและมีความเฉพาะเจาะจงกับตัวท่าน นอกจากนี้ยังปรึกษาและทดลองทำกายภาพบำบัดแบบไม่มีค่าใช้จ่ายอีกด้วย รู้แบบนี้แล้ว มาให้เราดูแลนะครับ